วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

โรคไข้เลือดออก2

โรคไข้เลือดออก เริ่มระบาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ป่วย 2,418 ราย และเสียชีวิต 240 ราย (10%) โรคไข้เลือดออก เกิดจาก เชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือ เชื้อไวรัสเด็งกิ่ว (Dengue) ซึ่งมี4สายพันธุ์ ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดและพบทุกปีคือ ชนิดที่ 2 และมักทำให้อาการรุนแรง ส่วนชนิดที่4 จะพบได้เพียงบางปีเท่านั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อ

ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วน ใหญ่จะเป็นเด็ก เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เท่าๆกัน เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่พบว่าเป็นไข้เลือดออก คือ อายุประมาณ 2 เดือน เด็กอายุ 5-9 ปี มีโอกาสเป็นโรคบ่อย ระยะหลังพบว่าเด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ มีแนวโน้มเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น

โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง แต่จะต้องติดผ่านทางยุงลายเท่า นั้น ยุงลาย ซึ่งเป็นยุงที่อยู่ในเมือง เพาะพันธุ์ในน้ำใส เช่นในภาชนะที่ขังน้ำฝน แอ่งน้ำขังบริเวณบ้าน โอ่งน้ำ ถ้วยรองขาตู้กันมด ยุงลายจะกัดเฉพาะเวลากลางวัน โดยยุงตัวเมียจะกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่กำลังเป็นไข้เลือดออกและมีเชื้อ ไวรัสอยู่ในตัวผู้ป่วย เมื่อไวรัสตัวนี้เข้าไปอยู่ในตัวยุงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะมีชีวิตอยู่ใน ตัวยุงได้ตลอดอายุไขของยุง (ประมาณ 1-2 เดือน) ยุงจะแพร่เชื้อไวรัสได้ทุกครั้งที่กัดคน โรคไข้เลือดออกมักระบาดในฤดูฝนเนื่องจากจำนวนยุงจะมีมากขึ้นในฤดูนี้

คนที่ได้รับเชื้อ แบ่งได้ 4 กลุ่มคือ

1. ไม่มีอาการใด ซึ่งส่วนใหญ่ 80-90% อยู่ในกลุ่มนี้

2. ไข้จากการติดเชื้อไวรัส ที่ไม่สามารถแยกได้จากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ

3.โรคไข้เด็งกิ่ว (Dengue Fever) โดยมีอาการเด่นคือ ไข้สูง 39-41 องศาเซลเซียส มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้ออย่างมาก ร่วมกับอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน จะมีระยะไข้ประมาณ 2-6 วัน เมื่อหายเป็นปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีผื่นแดงตามตัว แขน ขา อาจพบมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือเลือดออกได้แต่อาการจะไม่รุนแรง

วิธีการรักษา การรักษาโรคไข้เด็งกิ่ว เป็นการรักษาตามอาการ ผู้ป่วยสามารถรับยาแก้ไข้ พาราเซตามอลได้ ควรเช็ดตัวให้ผู้ป่วยเมื่อมีไข้สูง ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีแอสไพริน ควรนอนพักและดื่มน้ำให้เพียงพอ หากมีอาการเหงื่อออกมากหรืออาเจียน ควรรับประทานน้ำเกลือชดเชยด้วย

4.โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) แบ่งได้เป็นสามระยะคือ

ระยะไข้ เชื้อมีระยะฟักตัวตั้งแต่ ถูกยุงกัด จนเริ่มมีไข้ประมาณ 5-8 วัน เด็กที่เป็นไข้เลือดออกระยะเริ่มต้นจะมีอาการเหมือนกับไข้เด็งกิ่ว มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 39-41 องศาเซลเซียส นาน 2-7 วัน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการของหวัดที่ชัดเจน เช่น ไอ น้ำมูก แต่อาจพบเจ็บคอเล็กน้อยร่วมกับไอเล็กน้อย อาการเด่นที่พบคือหน้าตาจะดูแดงๆ อาการอื่นที่พบร่วมด้วยบ่อยคือ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปวดตามตัว ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ด้วย

ระยะช็อค เป็นระยะต่อจากไข้ ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เด็กจะดูป่วยมากกว่าเดิม ในโรคอื่นๆเมื่อไข้ลด เด็กจะสบายดี ทานได้เล่นได้ แต่โรคนี้ระยะไข้ลดเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ในรายที่อาการหนัก เด็กจะทรุดลงเร็วมาก มือเท้าเย็น เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย ปวดท้อง แน่นท้อง กระสับกระส่าย หายใจแรงและเร็ว ชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงจนช๊อค ในขณะที่บางรายจะมี เลือดกำเดาไหล จุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้ ทำให้อาเจียนเป็นเลือดดำๆ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ระยะช็อคส่วนใหญ่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในรายที่อาการไม่มาก จะมีอาการ ชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำลงเล็กน้อย เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แล้วกลับเป็นปกติได้เองหรือหลังได้รับการรักษาช่วงระยะสั้นๆ

ระยะพักฟื้น ภายหลังจากที่ผู้ป่วยผ่านพ้นระยะอันตรายมาแล้วก็จะเข้าสู่ระยะพักฟื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการช็อกก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีปัสสาวะมาก มีความอยากอาหาร และอาจพบผื่นแดงๆทั้งตัวโดยเฉพาะบริเวณขา

การวินิจฉัย โดยทั่วไปแล้วอาการแสดงร่วมกับการตรวจพบเกร็ดเลือด ต่ำ และความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้นก็เพียงพอ แต่ในบางรายที่อาการไม่ชัดเจนอาจต้องใช้การตรวจพิเศษร่วมด้วย การตรวจหาตัวเชื้อไข้เลือดออกด้วยวิธี PCR เป็นวิธีหนึ่งที่ทางโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา นำมาใช้เพื่อความแน่นอนในการวินิจฉัย โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่วันแรกที่มีไข้ และมีความไวสูงถึง 94เปอร์เซ็นต์ ความเฉพาะเจาะจงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาประมาณ 2 วันเท่านั้น

วิธีการรักษา หลักการรักษาโรคไข้เลือดออกที่สำคัญและให้ผลดีคือ การให้น้ำเกลือในปริมาณและชนิดของน้ำเกลือที่เหมาะสม กล่าวคือเมื่อผู้ป่วยอาการยังไม่รุนแรงนักแพทย์ก็จะให้น้ำเกลือพอสมควรและจะ เพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น นอกจากนี้การเฝ้าระวังดูอาการของผู้ป่วยรวมทั้งการวัดความดันโลหิตและการ ตรวจเลือดเป็นระยะๆ เพื่อให้แพทย์ได้รู้สภาพของผู้ป่วยก่อนที่อาการจะเป็นมากจะได้ให้การรักษา ทันท่วงที ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรืออาการมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องให้เลือดหรือเกร็ดเลือดชดเชย

ไข้เลือดออกในระยะเริ่มต้นอาจมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป นอกจากนี้อาการของโรคไข้เด็งกิ่วและไข้เลือดออก ในระยะ 2-3 วันแรกจะมีอาการเหมือนกัน หลังจากนั้นอาการของแต่ละโรคจึงจะปรากฏชัดเจนขึ้น ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและทำการตรวจรักษาได้ทันการ

บทความโดย : นพ.พุทธชาติ ดำรงกิจชัยพร
กุมารแพทย์ และ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา